วิธีติดตั้งและการต่อทาบแผ่นใยสังเคราะห์ (Geotextile) ที่ถูกต้อง และได้ประสิทธิภาพ

วิธีติดตั้งและการต่อทาบแผ่นใยสังเคราะห์ (Geotextile) ที่ถูกต้อง และได้ประสิทธิภาพ

ในการนำเอาวัสดุชนิดใดก็ตามมาใช้งาน สิ่งสำคัญคือควรรู้วิธีติดตั้งหรือวิธีใช้วัสดุประเภทนั้น ๆ อย่างถูกต้อง เพื่อป้องกันความเสียหายที่อาจเกิดขึ้น รวมถึงช่วยทำให้ผลงานออกมาตรงกับแผนที่วางไว้ ใช้ประโยชน์ได้จริง แผ่นใยสังเคราะห์ (Geotextile) คือวัสดุอีกชนิดที่ถูกนำมาใช้กันอย่างแพร่หลาย ทั้งในงานวิศวกรรมโยธา การจัดสวน หรืองานปรับปรุงภูมิทัศน์ เช่น การป้องกันการกัดเซาะของน้ำ  การแยกเอาวัสดุถมใหม่กับดินเดิมออกจากกัน เป็นต้น จึงอยากนำเสนอวิธีติดตั้งแผ่นใยสังเคราะห์อย่างถูกต้อง เพื่อการใช้งานสุดคุ้มค่า


แผ่นใยสังเคราะห์ชนิดไม่ถักทอ (Non woven Geotextile) มีวิธีติดตั้งอย่างไร

การปูแผ่นใยสังเคราะห์ชนิดไม่ถักทอ ควรเริ่มจากการปรับพื้นดินเดิมให้เรียบที่สุดเท่าที่จะทำได้ ควรเก็บเศษหินขนาดใหญ่ รากไม้ หรือเศษขยะที่มีความคมซึ่งอาจทำเสียหายโดยตรงต่อแผ่นใยสังเคราะห์ได้ออกก่อน หลังจากนั้นให้ปูแผ่นใยสังเคราะห์ให้เรียบและตึงที่สุดเท่าที่ทำได้เช่นกัน โดยสามารถเลือกปูในทิศทางใดก็ได้สะดวกกับหน้างาน หากเหลือเศษส่วนเกิน สามารถตัดได้โดยใช้กรรไกรใหญ่ที่มีความคม ตัดได้เลย ส่วนด้านข้างสามารถต่อทาบกันได้ตามความเหมาะสม


ปัจจุบันการต่อทาบแผ่นสังเคราะห์ชนิดนี้จะมีวิธีหลัก ๆ 2 แบบ 

ซึ่งแต่ละแบบเองจุดเด่นย่อมต่างออกไป ขึ้นอยู่กับการเลือกใช้งานและความเหมาะสมของหน้างานที่เกิดขึ้นดังนี้

1. ต่อทาบด้วยวิธีเย็บแผ่นใยสังเคราะห์

วิธีแรกคือการเย็บ ก็ไม่มีอะไรยุ่งยาก มักนิยมใช้อุปกรณ์เย็บสนามทั่ว ๆ ไป  เช่น จักรเย็บกระสอบ เพื่อให้ตัววัสดุเกิดความแข็งแรงทนทาน หนาชิดติดกัน ตัวด้ายก็เลือกเอาว่าอยากใช้งานแบบด้ายเส้นเดี่ยว หรือด้ายเส้นคู่ หากเป็นด้ายเดี่ยวจะเย็บง่าย แต่ความแข็งแรงยังไม่มากนัก แต่กรณีเลือกด้ายเส้นคู่จะให้ความแข็งแรงมากกว่า ทว่าก็แลกมาด้วยความช้าและเสียเวลาในการทำงาน เพิ่มขึ้นนิดหน่อย ทั้งนี้สไตล์การเย็บเองก็มีหลากหลาย แต่ที่นิยมกันคือสไตล์  J Seam หรือ Prayer Seam จุดเด่นอีกอย่างของการต่อทาบด้วยวิธีนี้คือ จะช่วยประหยัดตัวแผ่นใยสังเคราะห์ที่จะทำการทับซ้อนกัน เพราะอาจใช้ระยะซ้อนทับเพื่อการเย็บเพียง 5-10 cm ก็พอ ลดต้นทุนค่าวัสดุได้ในระดับหนึ่งทีเดียว





2. ต่อทาบด้วยการซ้อนทับ (Overlapping)

เป็นอีกวิธีติดตั้งแผ่นใยสังเคราะห์ชนิดไม่ถักทอ (Non-woven geotextile) ที่ได้รับความนิยมไม่แพ้แบบแรก เพราะทำงานง่าย สะดวกและรวดเร็ว หลักการง่าย ๆ คือ จะนำเอาวัสดุชนิดนี้มาปูทับซ้อนกัน โดยขณะก่อสร้างอาจใช้เหล็กหรือหมุดชั่วคราวยึดปักไว้ เช่น J-Pin เป็นการกำหนดตัววัสดุให้ตรงกับตำแหน่งที่วางเอาไว้ หลังจากนั้นก็สามารถถมดิน หรือวัสดุมวลรวมที่เตรียมไว้ลงไป ก็เท่ากับว่าแผ่นวัสดุนี้จะไม่สามารถเคลื่อนที่ไปไหนได้ งานจึงออกมาสมบูรณ์แบบ จุดเด่นของวิธีนี้คือ ใช้ระยะเวลาในการทำรวดเร็วกว่าแบบเย็บพอควร แต่อาจต้องใช้วัสดุมากกว่า



เพิ่มเติมข้อมูลระยะทับซ้อน ในการต่อทาบ

เพื่อให้การใช้งานแผ่นใยสังเคราะห์ (Geotextile) ได้คุณภาพมากที่สุด จึงควรเข้าใจถึงระยะทับซ้อน ดังนี้

  • การปูแผ่นวัสดุลงใต้น้ำ ควรมีระยะทับซ้อนราว 100 ซม.
  • การปูแผ่นวัสดุลงบนดินอ่อน ควรมีระยะทับซ้อนราว 50 ซม. 
  • การปูแผ่นวัสดุลงบนดินแข็ง ควรมีระยะทับซ้อนราว 30 ซม. 


ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

หน้าที่สำคัญของ แผ่นใยสังเคราะห์ (Geotextile function)

มาตรฐานการทดสอบน้ำหนัก geotextile